วันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เทศกาลกินเจ


เทศกาลกินเจ

นับถอยหลังทั้งกาย-ใจ 'เทศกาลกินเจ' ทำกุศล 'เพื่อสุขภาพ' (เดลินิวส์)

          เข้าสู่ช่วงนับถอยหลัง-เตรียมตัวกันแล้ว สำหรับ "เทศกาล กินเจ" ที่จะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปลายสัปดาห์นี้ โดยวันที่ 17 ต.ค. เป็นวันล้างท้อง และระหว่างวันที่ 18-26 ต.ค. เป็นช่วงวัน "กินเจ" ซึ่งในเชิงเศรษฐกิจก็มีการวิเคราะห์ว่าเทศกาลกินเจใน เมืองไทยปีนี้จะมีเม็ดเงินเกี่ยวกับธุรกิจอาหารเจสะพัดราว 2.7 หมื่น ล้านบาท
   
          ส่วนผู้ถือศีล-กินเจ ก็ย่อมหมายมั่นที่เรื่องบุญกุศล ขณะเดียวกัน การกินเจก็เกี่ยวข้องกับ สุขภาพ ด้วย !!
   
          "ควรเลือกบริโภคอาหารที่ปรุงสะอาดถูกสุขอนามัย ถูกหลักโภชนาการ เพื่อทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วนและ มีคุณค่าเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย" ...เป็นคำแนะนำของ นพ.โสภณ เมฆธน รองอธิบดีกรมอนามัย และต่อเนื่องด้วยหลักปฏิบัติ ของผู้งดเนื้อสัตว์ใน 3 กลุ่มคือ.....
   
          กลุ่มที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ทุกชนิด ไข่ ผลิตภัณฑ์จากนม เนย รวมถึงหัวหอม กระเทียม กุยช่าย หลักเกียว (คล้ายกระเทียม แต่เล็กกว่า) ใบยาสูบ ในกลุ่มนี้จำเป็นต้องบริโภคถั่วเมล็ดแห้งต่าง ๆ เช่น ถั่วเหลือง มีสารที่ให้กรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย ทดแทนสารอาหารจากเนื้อสัตว์ที่ไม่บริโภค การบริโภคถั่วเมล็ดแห้ง ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ ช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารจำพวกโปรตีน และธาตุ เหล็ก ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
   
          กลุ่มที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ ไข่ หัวหอม กระเทียม หัวไชเท้า กุยช่าย พริกแดง แต่ดื่มนมและบริโภคผลิตภัณฑ์จากนม กลุ่มนี้ จำเป็นต้องได้รับสารอาหารทดแทนด้วยการบริโภคถั่วเมล็ดแห้งต่าง ๆ ควบคู่กับ ข้าวกล้อง ซึ่งให้โปรตีนสูงกว่าข้าวขาว อีกทั้งยังช่วยให้ได้รับสารอาหารประเภทวิตามินบีต่าง ๆ และเกลือแร่ด้วย
   
          กลุ่มที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ แต่บริโภคไข่และผลิตภัณฑ์จากนม เนย กลุ่มนี้มีข้อได้เปรียบตรงที่ร่างกายยังได้รับสารอาหารประเภทโปรตีนจากไข่ และแคลเซียมจากนม ซึ่งกลุ่มนี้จะ เหมาะสำหรับเด็กที่ต้องการกินเจด้วย เพราะร่างกายจะยังคงได้รับสารอาหารต่าง ๆ ที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตทั้งด้านร่างกายและสมอง
   
          "ผู้บริโภคควรต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในการเลือก ซื้อและบริโภคอาหารเจ ซึ่งเมื่อถึงเทศกาลกินเจจะมีการปรุงอาหาร ออกมาจำหน่ายหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบสำเร็จรูป อาหารคาว- หวาน อาหารถุง อาหารกระป๋อง ก่อนเลือกซื้อไปบริโภคก็ควร ต้องคำนึงถึงคุณค่า ราคา ความสะอาดปลอดภัย ตลอดจนภาชนะ บรรจุภัณฑ์และวันหมดอายุ เพื่ออนามัยที่ดี" ...รองอธิบดีกรม อนามัยระบุ
   
          ทางด้าน นพ.ณรงค์ สายวงศ์ ผู้อำนวยการกองโภชนา การ กรมอนามัย ก็ให้คำแนะนำผ่าน "สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์" ว่า... ในช่วงถือศีล กินเจ ช่วงเทศกาลการปฏิบัติตนทั้งกายและใจ ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีอีกโอกาสหนึ่งที่จะได้ยึดถือเพื่อที่จะทำความดีกันนั้น สำหรับการ กินเจ ไม่บริโภคเนื้อสัตว์และผักบางชนิด ก็สามารถทำให้ผู้ปฏิบัติรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจ รู้สึกว่าได้ละเว้นการทำบาป จึงถือได้ว่า "อาหารเจ เป็นทั้งอาหารกายและอาหารใจ"
   
          การไม่บริโภคเนื้อสัตว์นั้น ในแง่ของสุขภาพก็จะเป็นผลดีต่อสุขภาพ เช่นทำให้ระบบขับถ่ายของร่างกายดี การเสี่ยงต่อโรคมะเร็งก็จะลดน้อยลง ขณะเดียวกัน ลึก ๆ แล้วการ กินเจ ยังเป็นการสร้างวัฒนธรรมที่อ่อนโยนต่อโลก ช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้เข้าใกล้วิถีแห่งพระโพธิสัตว์ คือไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
   
          อย่างไรก็ดี เพื่อมิให้มีปัญหาทางสุขภาพกาย หลักในการ กินเจ ก็ควรเน้นที่สีของอาหาร ไม่ว่าจะเป็นถั่ว ผัก ผลไม้ ควรบริโภค  อาหารให้ครบทั้งสีขาว เขียว เหลือง ดำ และแดง เพราะไม่มีอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งที่จะให้สารอาหารครบถ้วน และข้อควรระวังคือ หลีกเลี่ยงอาหารพวกแป้งและอาหารที่ใช้น้ำมันมาก ๆ รวมถึง ผักต่าง ๆ ก่อนจะใช้ปรุงอาหาร ก็ต้องล้างให้สะอาด เพื่อป้องกันสารพิษตกค้าง
   
          หากกินเจอย่างถูกหลักโภชนาการ นอกจากจะทำให้การกินเจส่งผลดีทางด้านจิตใจแล้ว ยังทำให้ร่างกายของผู้ที่กินเจไม่มีปัญหา เช่น น้ำหนักเกิน ก็สามารถช่วยลดน้ำหนักส่วนเกินได้ รวมทั้งยังช่วยให้อวัยวะที่ใช้ในการขับถ่ายไม่อุดตัน ช่วยให้ไตทำงานน้อยลง เป็นต้น และที่สำคัญอีกประการหนึ่ง...แม้จะกินเจ ก็คือการหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อเผาผลาญพลังงานส่วนเกินที่ร่างกายได้รับ และส่งผลให้มีสุขภาพที่ดีตามมา
   
          "การหิวโหยอ่อนแรงเพราะกินเจ เพราะเคยชินกับการกินเนื้อสัตว์ ให้แก้อาการด้วยการกินข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ถั่วเมล็ดแห้ง เพื่อชดเชย และการกินผักมากเกินไปก็อาจเป็นโทษต่อร่างกายได้ เพราะผักบางชนิดมีสารที่ขัดขวางการดูดซึมสารอาหาร  ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย-อ่อนแรงได้ ดังนั้น ทางที่ดีควรเดินสายกลาง อย่าสุดโต่งมากเกินไป อีกทั้งช่วงกินเจนั้น ก็คงไม่ใช่แค่มุ่งกินผักอย่างเดียว แต่ควรทำจิตใจให้ผ่องแผ้วด้วย ไม่คิดร้าย ไม่อิจฉาริษยาคนอื่น ถือศีล ทำสิ่งดี ๆ จึงจะบรรลุวัตถุประสงค์ของประเพณีอันมีคุณค่านี้" ...ผู้อำนวยการกองโภชนาการระบุ
   
          เข้าสู่ช่วงเตรียมปฏิบัติตัว ใน เทศกาลกินเจ แล้ว และจะดีแน่ ๆ ถ้าเตรียมปฏิบัติใจ ในเทศกาล กินเจ ด้วย

          ได้สุขภาพ-ได้บุญ...ได้ความสุขทั้งกาย-ใจ...ครบเครื่อง !!


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

วันออกพรรษา


วันออกพรรษา
วันออกพรรษา หรือ วันปวารณาออกพรรษา เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาวันหนึ่งในประเทศไทย วันออกพรรษา คือ วันที่สิ้นสุดระยะการจำพรรษาเป็นเวลา 3 เดือน (นับตั้งแต่วันเข้าพรรษา) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันมหาปวารณา” คำว่า “ปวารณา” แปลว่า “อนุญาต” หรือ “ยอมให้” ใน วันออกพรรษา นี้พระสงฆ์จะประกอบพิธีทำสังฆกรรมใหญ่ เรียกว่า มหาปวารณา เป็นการเปิดโอกาสให้ภิกษุว่ากล่าวตักเตือนกันได้ เพราะในระหว่างเข้าพรรษา พระสงฆ์บางรูปอาจมีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข การให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนได้ ทำให้ได้รู้ข้อบกพร่องของตน และยังเปิดโอกาสให้ซักถามข้อสงสัยซึ่งกันและกันด้วยซึ่งจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 (ประมาณเดือนตุลาคม) หลังวันเข้าพรรษา 3 เดือน ตามปฏิทินจันทรคติไทย

สำหรับ คำกล่าว ปวารณา มีคำกล่าวเป็นภาษาบาลีเป็นดังนี้ “สังฆัมภันเต ปะวาเรมิ ทิฎเฐนะ วา สุเตนะ วาปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัส์มันโต อะนุกัทปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปฎิกะริสสามิ” มีความหมายว่า ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ กระผมขอปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นหรือได้ฟังก็ตาม ขอท่านทั้งหลายโปรดอนุเคราะห์ว่ากล่าวตักเตือนกระผมด้วย เมื่อกระผมมองเห็นแล้วจักประพฤติตัวเสียเลยใหม่ให้ดี
การออกพรรษานั้น ถือเป็นข้อปฏิบัติตามพระวินัยสำหรับพระสงฆ์โดยเฉพาะจัดเป็นญัตติกรรมวาจาสังฆกรรมประเภทหนึ่ง ที่ถูกกำหนดโดยพระวินัยบัญญัติให้โอกาสแก่พระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ร่วมกันตลอด เมื่อถึง วันออกพรรษา พุทธศาสนิกชนถือเป็นโอกาสอันดีที่จะเข้าวัดเพื่อบำเพ็ญกุศลแก่พระสงฆ์ที่ตั้งใจจำพรรษาและตั้งใจปฏิบัติธรรมมาตลอดจนครบไตรมาสพรรษากาลในวันนี้ และวันถัดจาก วันออกพรรษา 1 วัน (แรม 1 ค่ำ เดือน 11) พุทธศาสนิกชนในประเทศไทยยังนิยมไปทำบุญตักบาตรครั้งใหญ่ เรียกว่า ตักบาตรเทโว หรือ ตักบาตรเทโวโรหนะ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในพุทธประวัติที่กล่าวว่า ในวันถัด วันออกพรรษา หนึ่งวัน พระพุทธเจ้าได้เสด็จลงจากเทวโลกกลับจากการโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในพรรษาที่ 7 เพื่อลงมายังเมืองสังกัสสนคร พร้อมกับทรงแสดงโลกวิวรณปาฏิหาริย์เปิดโลกทั้งสามด้วย
วันออกพรรษา
กิจกรรมในวันออกพรรษา
วันออกพรรษา นี้พุทธศาสนิกชนถือว่าเป็นโอกาศอันดีที่จะกระทำ การบำเพ็ญกุศล เช่น ทำบุญตักบาตร จัดดอกไม้ ธูป เทียน ไปบูชาพระที่วัดและฟังพระธรรมเทศนา ของที่ชาวพุทธนิยมนำไปใส่บาตรในวันนี้ก็คือ ข้าวต้มมัดไต้ และข้าวต้มลูกโยน และการร่วมกุศล “ตักบาตรเทโว” ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11
1. ทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ
2. ไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา
3. ร่วมกิจกรรม “ตักบาตรเทโว” (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11)
4. ปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการและประดับธงชาติ และธงธรรมจักร ตามวัดและสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา
5. ตามสถานที่ราชการ สถานที่ศึกษาและที่วัด ควรจัดให้มีนิทรรศการ การบรรยาย หรือ บรรยายธรรม เกี่ยวกับ วันออกพรรษา เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้สนใจทั่วไป
กิจกรรม ประเพณีวันออกพรรษา ของไทย
1. ประเพณีออกพรรษา แห่ปราสาทผึ้ง และการแข่งขันเรือยาว จังหวัด สกลนคร
2. ประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ด จังหวัด แม่ฮ่องสอน
3. ประเพณีตักบาตรเทโว จังหวัด อุทัยธานี
4. ประเพณีบุญแห่กระธูป จังหวัด ชัยภูมิ
5. ประเพณีชักพระ ทอดพระป่า และแข่งขันเรือยาว จังหวัดสุราษฎร์ธานี
6. งานเทศกาลออกพรรษาบั้งไฟพญานาค จังหวัด หนองคาย
7. ประเพณีลอยผาสาด ดารดาษนทีโขง จังหวัด เลย
8. เทศกาลงานบุญออกพรรษา จังหวัดมุกดาหาร
9. ทำบุญตักบาตรสองแผ่นดิน เหนือสุดในสยาม จังหวัด เชียงราย
10. งานประเพณีลากพระและมหกรรมวัฒนธรรมสัมพันธ์ จังหวัดตรัง
11. ประเพณีแข่งโพนลากพระ จังหวัด พัทลุง

วันปิยะมหาราช

วันปิยมหาราช 23 ตุลาคม ประวัติ ความเป็นมา
วันปิยมหาราช ตรงกับวันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นที่รักใคร่อย่างล้นเหลือของพสกนิกรทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ พระองค์จึงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช” หรือพระพุทธเจ้าหลวง ซึ่งมีความหมายว่า “พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน” ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ 23 ตุลาคม เป็น “วันปิยมหาราช”
ประวัติความเป็นมา ในวันปิยมหาราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ จะเสด็จฯ ไปวางพวงมาลา ณ พระบรมรูปทรงม้าซึ่งตั้งอยู่ที่หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นประจำทุกปี
เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงประชวรเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต ครั้นนั้นเป็นที่เศร้าสลดอย่างใหญ่หลวง ของพระบรมวงศานุวงศ์และปวงชนทั่วประเทศ เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกษัตริย์ที่เคารพรักของหวยราษฎร์ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอเนกประการ ทั้งในการปกครองบ้านเมืองและพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุข แก่ชนทุกหมู่เหล่า ทวยราษฎร์ทั้งปวงจึงได้ถวายพระนามว่า พระปิยมหาราช หรือพระพุทธเจ้าหลวง เมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพตามราชประเพณีแล้ว ครั้งเมื่อบรรจบอภิลักขิตสมัยคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ผู้สืบราชสันตติวงศ์ ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวายตามราชประเพณี โดยเชิญพระโกศพระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ออกประดิษฐานบนพระแท่นนพปฎลมหา-เศวตฉัตร และเชิญพระพุทธรูปปางประจำพระชนมวารประดิษฐาน ณ โต๊ะหมู่ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท หรือพระที่นั่งอนันตสมาคม ส่วนที่พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระลานพระราชวังดุสิต หน้าที่นั่งอนันตสมาคม ที่เรียกว่าพระบรมรูปทรงม้า